Regulation Name | พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 |
Notification date | 7 Apr 2019 |
Enforcement date | 8 Apr 2019 |
Summary by TTIA
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลบังคับใช้วันที่ 8 เมษายน 2562
สาระสำคัญ
มาตรา 6 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจ โดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือ ผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย ให้คำว่า “ค้ามนุษย์” หมายความรวมถึง “บังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ด้วยและให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีบังคับใช้แรงงาน หรือบริการด้วยโดยอนุโลม โดยถ้าการกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ขณะเดียวกันถ้าการกระทำความผิดเป็นกรณีที่ผู้บุพการี ให้ผู้สืบสันดานทำงานหรือให้บริการ เพราะเหตุความยากจนเหลือทนทาน หรือเมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นแล้ว ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดเลย ก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม การออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อให้มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และเพื่อให้รับกับพิธีสาร ค.ศ. 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930