Summary by TTIA (54)

Regulation Name ประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของเรือประมงนอกน่านน้ำไทยที่ทําประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ พ.ศ. 2561
Notification date 12 Jun 2018
Enforcement date 12 Jun 2018

Summary by TTIA


ประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของเรือประมงนอกน่านน้ำไทยที่ทําประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ลงนามโดย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง มีผลบังคับใช้วันที่ 12 มิถุนายน 2561 โดยช่วงท้ายประกาศมีแบบฟอร์ม 2 ฉบับ คือ SIOFA Transfer At Sea Notification, SIOFA Transfer At Sea Declaration และแบบบันทึกการติดสัตว์น้ำโดยบังเอิญ (Incidental catch log sheet of SIOFA) ข้อมูลเพิ่มเติมแนบท้ายประกาศ ได้แก่ ภาพแผนที่แสดงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบของ SIOFA, สัตว์น้ำที่อยู่ภายใต้กรอบของ SIOFA, พื้นที่ทำการประมงโดยใช้เครื่องมืออวนลาก และพื้นที่ห้ามทำการประมง SIOFA

สาระสำคัญ

เนื่องด้วยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตามความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) ทําให้มีสิทธิเข้าไปทําการประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบ SIOFA ทั้งนี้ต้องทราบถึงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของเรือประมง ดังนี้

1) พื้นที่และชนิดของสัตว์น้ำที่อยู่ภายใต้กรอบ SIOFA เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้

2) เรือที่จะทำการประมง มีสัตว์น้ำไว้บนเรือ ทําการขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบ SIOFA จะต้องเป็นเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับอนุญาตของ SIOFA >> www.siofa.org

ทั้งนี้ผู้ประกอบการและเจ้าของเรือต้องไม่มีส่วนร่วมกับเรือไร้สัญชาติซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ

3) จำกัดการลงแรงประมง 300 วัน/ ลำ/ ปี

4) เรือประมงอวนลาก ทําประมงได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่ตามพิกัดแนบท้ายประกาศ กรณีในการลากอวน 1 ครั้ง ได้ปะการังมีชีวิต > 60 กิโลกรัม หรือฟองน้ำมีชีวิต > 700 กิโลกรัม ต้องย้ายตําแหน่งทำการประมงห่างจากเดิมอย่างน้อย 2 ไมล์ทะเล โดยวัดจากแนวลากอวนด้านใดด้านหนึ่ง

5) เรือประมงเบ็ดราว กรณีได้ปะการัง หรือฟองน้ำมีชีวิต > 10 กิโลกรัมต่อเบ็ด 1,000 ตัว หรือต่อความยาวสายคร่าว 1,200 เมตร แล้วแต่ว่าจะเข้าเงื่อนไขใดก่อน โดยให้ย้ายพื้นที่ทําการประมงจากจุดเดิมออกไป ในรัศมี > 1 ไมล์ทะเลนับจากจุดกึ่งกลางของแนวการวางเบ็ด

6) เรือประมงที่ทำการประมงโดยใช้ลอบที่มีสายคร่าวซึ่งวางต่อเนื่องกัน หากได้ปะการังหรือฟองน้ำมีชีวิต > 10 กิโลกรัมต่อความยาวสายคร่าว 1,200 เมตร หรือทําการประมงโดยใช้ลอบเดี่ยว หากได้ปะการังหรือฟองน้ำมีชีวิต > 10 กิโลกรัมต่อลอบหนึ่งลูก ให้ย้ายพื้นที่ทําการประมงจากจุดเดิมออกไปในรัศมี > 1 ไมล์ทะเล นับจากจุดกึ่งกลางของสายคร่าวหรือจุดกึ่งกลางของลอบ

7) ห้ามทำการประมงในเขตพื้นที่ตามพิกัดแนบท้ายประกาศ

8) ห้ามใช้เครื่องมืออวนลอยขนาดใหญ่ หรืออวนติดตาน้ำลึก ที่มีขนาดความยาวรวมกันเกินกว่า 2.5 กิโลเมตร

9) ห้ามทํากิจกรรมใดที่มีลักษณะเป็นการให้การสนับสนุนเรือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทําการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

10) เรือประมงที่จะทำการขนถ่ายน้ำมัน เครื่องมือประมง หรือเสบียงในทะเล จะต้องแจ้งการขนถ่ายดังกล่าวให้กองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยใช้แบบฟอร์ม SIOFA Transfer At Sea Notification แนบท้ายประกาศนี้

เมื่อดําเนินการขนถ่ายเสร็จสิ้น ภายใน 24 ชั่วโมง ต้องรายงานการขนถ่ายต่อกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง โดยใช้แบบฟอร์ม SIOFA Transfer At Sea Declaration แนบท้ายประกาศนี้

11) ต้องจัดทำเครื่องหมายของเครื่องมือประมง ได้แก่ ชื่อเรือ และสัญญาณเรียกขาน และหมายเลขที่เครื่องมือแสดงไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

11.1) กรณีเครื่องมือที่ใช้สายคร่าว ให้ติดเครื่องหมายที่ปลายของเครื่องมือ และต้องติดทุ่นธงหรือทุ่นเรดาร์ในตอนกลางวัน และติดทุ่นไฟ โดยต้อง

เห็นแสงไฟในระยะ 2 ไมล์ทะเลสําหรับตอนกลางคืน

11.2) กรณีเครื่องมือประจําที่ ซึ่งใช้วัสดุถ่วงกับพื้นทะเล ต้องติดทุ่นธงหรือทุ่นเรดาร์ในตอนกลางวัน และติดทุ่นไฟ โดยต้องเห็นแสงไฟในระยะ 2 ไมล์ทะเลสําหรับตอนกลางคืน

12) ต้องมีอุปกรณ์ในการนำเครื่องเครื่องมือประมงที่หลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหายในขณะทำประมงกลับคืน ห้ามทิ้งเครื่องมือประมง เว้นแต่มีเหตุผลจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะอันตราย

ในกรณีเครื่องมือประมงหลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย ไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตาม ผู้ควบคุมเรือต้องดําเนินการนําเครื่องมือประมงดังกล่าวกลับคืน หากไม่สามารถนําเครื่องมือดังกล่าวกลับคืนได้ผู้ควบคุมเรือต้องรายงาน ชื่อเรือ และสัญญาณเรียกขาน หมายเลข IMO (ถ้ามี) ชนิด, จำนวน, วัน/ เวลา/ พิกัด ที่เครื่องมือประมงหลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย วิธีการในการนําเครื่องมือประมงกลับคืน ต่อกองควบคุม การประมงนอกน่านน้ำ และการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมงทันที

13) กรณีพบและเก็บเครื่องมือประมงซึ่งถูกทิ้งหรือสูญหายของผู้อื่นขึ้นมาบนเรือ ให้ผู้ควบคุมเรือแจ้ง ชื่อเรือ สัญญานเรียกขานของเรือที่เก็บเครื่องมือ ประมงนั้นขึ้นมาได้ และหมายเลข IMO (ถ้ามี) ชนิดเครื่องมือประมง จำนวน วัน/ เวลา/ พิกัด และภาพถ่ายเครื่องมือประมงที่เก็บกู้ได้ ต่อกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง

14) สัตว์น้ำแช่แข็งที่เก็บไว้บนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ต้องมีฉลากที่ชัดเจนบนกล่องหรือภาชนะที่บรรจุสัตว์น้ำแช่แข็ง โดยในแต่ละบรรจุภัณฑ์จะต้องมีสัตว์น้ำเพียงชนิดเดียว ดังต่อไปนี้

14.1) ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ รหัสชนิดสัตว์น้ำตามที่ FAO หรือตามที่คณะกรรมการวิทยาศาสตร์กําหนด

14.2) วันที่จับสัตว์น้ำ

14.3) หมายเลขที่สามารถระบุตัวตนของเรือประมงที่จับสัตว์น้ำ

15) เรือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ SIOFA กรณีทําประมง พบสัตว์น้ำอนุรักษ์ต้องบันทึกในแบบบันทึกการติดสัตว์น้ำโดยบังเอิญ (Incidental catch log sheet of SIOFA) และรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

16) หากพบเห็นเรือไร้สัญชาติหรือเรือที่มิได้อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับ อนุญาตของ SIOFA ขณะทําการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ผู้ควบคุมเรือต้องแจ้งข้อมูล ชื่อเรือ เลขทะเบียนเรือ สัญญาณเรียกขาน รัฐเจ้าของธง วัน เวลา พิกัดที่พบเรือ และรูปถ่ายเรือ เป็นต้น ให้กองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมงทราบ >> thaifoc@fisheries.go.th

17) ผู้ที่ประสงค์เข้าไปทําการขนถ่ายสัตว์น้ำในพื้นที่และชนิดสัตว์น้ำของ SIOFA ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์/ข้อปฏิบัติตลอดเวลา