กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00 น. สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association – TTIA) ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ Friend of the Sea (FOS), สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าอาหารของสหราชอาณาจักร (British Food Importers & Distributors Association) และ International Pole and Line Foundation (IPNLF) ได้ชี้แจงและให้ความเห็น เรื่อง อนาคตอุตสาหกรรมทูน่าในตลาดโลก ประเด็นการใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน และการทำประมงถูกกฎหมาย ณ ห้องคอรันดัม โรงแรมแชงกลีร่า กรุงเทพฯ ในช่วงงานสัมมนาทูน่าโลก 2559
โดยมีรายชื่อผู้นำเสนอดังนี้ Click to download their Press Release
- ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์, นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
- นายเปาโล เบย์ (Mr. Paolo Bray), Founder and Director of Friend of the Sea (FOS)
- นายอัลโดโฟ วาลเซลชี (Mr. Adolfo Valsecchi), Chairman of Conference of World Tuna 2016
- นายวอลเตอร์ แอนเซอร์ (Mr. Walter Anzer), Director General of British Food Importers & Distributors Association
- นางสาวนาตาเลีย เวปสเตอร์ (Ms. Natalie Webster), Vice Chair of International Pole and Line Foundation (IPNLF)
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าของโลกที่จับได้มีจำกัดปีละประมาณ 5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ ประเทศไทยนำเข้าผลิตและแปรรูปส่งออกสัดส่วน 15-18% ของปริมาณปลาทูน่าที่จับได้ หรือ คิดเป็นปริมาณ 7-8 แสนตันต่อปี ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืน เช่น การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะปลาทูน่า การส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมาย การเป็นหน่วยงานที่จะดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศตน เป็นต้น
ดร.ชนินทร์ฯ ชึ้แจงว่า “ จุดยืนของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยต่อหลักการแก้ไขปัญหา IUU-fishing ยึดมั่นใน 4 หลักการ ดังนี้ ”
- ยึดมั่นตามหลักวิชาการและข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ (Base on Scientific Data) ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือ กรมประมง (Department of Fisheries) หรือ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีที่สุด เพื่อนำ มาแก้ไขการจัดการทรัพยากรทางทะเลของไทยให้ดีขึ้นตามหลักสากล
- ยึดมั่นในกรอบกฎหมายสากล (Base on Legal Framework) ของ FAO หรือ UNCLOS 1982 ซึ่งกฎหมายต่อต้านการประมงของสหภาพยุโรปก็ต้องอิงกับหลักกฎหมายของ FAO และ UN เช่นเดียวกัน
- ยึดมั่นหลักการปฏิบัติอย่างโปร่งใส (Base on Transparency) ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องเปิดเผยและเป็นเอกสารที่สามารถอ้างอิงและต้องตรวจสอบได้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) กับเรื่อง IUU
- ยึดมั่นหลักการความร่วมมือในการแก้ปัญหา (Base on Constructive Cooperation) ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นหัวใจของกฎหมายต่อต้านการประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยการช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศที่ 3 เช่น ประเทศไทย ให้มีการแก้ไข ปรับปรุงด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรประมงของไทยเอง
ดร.ชนินทร์ฯ กล่าวอีกว่า “ สมาคมฯ ยอมรับและเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยและคณะกรรมาธิการ(EU Commission) ให้ความ สำคัญต่อการปรับปรุงแหล่งทรัพยากรประมงของไทย และยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ”
จากข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรป ในการแก้ไขที่ยั่งยืน สิ่งที่ควรต้องปรับปรุงโดยเร็ว (Short coming) ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
- กรอบกฎหมาย (Legal Framework) การออกกฎหมายลูก 65 ฉบับ ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันออกกฎหมายลูกมาแล้ว 35 ฉบับ
- ระบบติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (MCS, Monitoring, Control and Surveillance System) เช่น ระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS, Vessel Monitoring System) ซึ่งตามหลักการ FAO IUU Fishing การติดตั้งระบบดังกล่าว เพื่อที่จะควบคุมและติดตามทำประมงของเรือประมงขนาดใหญ่ ซึ่งกำหนดให้ควบคุมเฉพาะเรือประมงที่มีขนาด 24 เมตร เป็นหลัก (หรือเรือ 30 ตันกรอสส์ ขึ้นไป เป็นหลัก)
- การทำประมงเกินขนาด (Overfishing) หลักข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศ ในการวัดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะจับมาใช้ประโยชน์ได้ (MSY: Maximum Sustainable Yields) ยกตัวอย่างเช่น กรณีเรือประมงอียูที่จับปลาทูน่าครีบเหลืองในมหาสมุทรอินเดีย จากที่เคยอยู่ระดับ Green ปัจจุบันกลายเป็นระดับ Red ซึ่งก็ต้องแก้ไขตามหลักการดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ต้องหาค่า MSY ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ดร.ชนินทร์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ จากหลักการข้างต้น หากรัฐบาลและสมาคมฯ ในฐานะเอกชน ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามหลักการดังกล่าว โดยขอให้ยึดหลักการสากลไว้เป็นจุดยืนและถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกประเทศ ”