Follow Us :
02-258-0317-8

การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม หลักสูตรพื้นฐานการบริหารจัดการการทำประมงตามหลักการของ

Marine Stewardship Council Fisheries Standard

วันที่ 24 – 26  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ

          สืบเนื่องจากทั่วโลกได้ตระหนัก และมีความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และสิ่งแวดล้อมของโลก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน อันจะมีผลสืบเนื่องไปถึงความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรของโลก ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และผลักดันการปฏิรูปด้านการประมง โดยกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำ ในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการ ตามแผนงานหลัก 6 แผนงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องได้แก่

  1. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง
  2. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงแบบ IUU
  3. การเร่งจดทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตทำการประมง
  4. การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง
  5. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System – VMS)
  6. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมทั้งร่วมองค์การบริหารจัดการประมงในภูมิภาคต่างๆ มาตรการที่เกี่ยวข้องในด้านการค้าระหว่างประเทศ (Internationally Agreed Market in – Related Measures

MSC (Marine Stewardship Council) เป็นมาตรฐานด้านการประมงอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยดำเนินการติดฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco – label) ตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และใช้กระบวนการรับรองมาตรฐานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์การประมงทั่วโลกโดยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อการประมงอย่างยั่งยืน เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาดอาหารทะเลของโลก และรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรประมง โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลและภาครัฐ ดังนั้น ประเทศไทยในฐะนะผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะภาคประมงขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหาอาหารทะเลให้กับประชากรของโลก จะต้องผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มประมงกับผู้ประกอบการเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการรักษาระบบนิเวศของมหาสมุทร วิถีชีวิตชายฝั่ง และการประมงที่ยั่งยืน จึงมีความจำเป็นให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสพัฒนาการประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานการประมงให้บริบทของหลักการ MSC
  2. เพื่อสามารถนำเกณฑ์สำหรับการประมงอย่างยั่งยืนไปใช้ในการประเมินสภาพปัญหา อุปสรรค สามารถระบุจุดแข็งจุดอ่อนของการประมงก่อนการประเมินมาตรฐานภายใต้มาตรฐาน MSC

วิทยากร จาก MSC 4 ท่าน ดังนี้

  1. Mr. Matt Watson
  2. Mr. Adrian Gutteridge
  3. Mr. Mathew Hourston
  4. Ms. Sheryl Torres Wu

รายชื่อผู้เข้าร่วมในนามสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย

  1. คุณอัจฉราพรรณ จูด้วง (Supervisor บมจ. ยูนิคอร์ด)
  2. คุณวรวรรณ เสรีสำราญ (Sr. production Supervisor บจก. เซ้าอีสต์เอเชี่ยนแพคเกจจิ่งแอนด์แคนนิ่ง)
  3. คุณวมงคล องคะริยะพงษ์ (ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บจก. สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ด)
  4. คุณรัตติยา เชียงเนาว์ (เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านประมง)

สรุปสาระสำคัญดังนี้

MSC เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลง Seafood market ให้สามารถทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบสัตว์น้ำที่มีการจัดการที่ดี และมีความยั่งยืน เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เนื่องจากมาตรฐาน MSC เป็นมาตรฐานสากล โดยยึดหลักการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (FAO – Code of conduct) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้จากการติดฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-label)

การประเมินมาตรฐานของ MSC ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ

1) ความยั่งยืนของประชากรสัตว์น้ำเป้าหมาย (Sustainable target fish stocks)

2) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำการประมง (Environmental impact of fishing)

3) การจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ (Effective management)

ในการประเมินต้องทราบขอบเขต โครงสร้าง > ตรงตามมาตรฐานหรือไม่  อีกทั้งหลักเกณฑ์ กรอบการประเมินความเสี่ยง > มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ต้องดำเนินการอย่างไรให้ก้าวสู่มาตรฐานเพื่อจะนำไปสู่การมีเสถียรภาพทางการประมง ซึ่งในการประเมินมีหลายหน่วยงานเช่น MRAG, SGS เป็นต้น

ความคาดหวังของ MSC คือ ในปี 2030 ผลผลิตจากทะเลทั่วโลก 1 ใน 3 ต้องได้มาตรฐาน MSC โดยในปี 2020 ต้องได้รับการรับรองมากกว่า 20% ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ต้องมีความคุ้มค่าในการประเมินดังนี้ การเข้าถึงแหล่งทุน สังคมให้การยอมรับ มี Road Maps ที่ชัดเจนว่าจะมีการบริหารจัดการทรัพยากรไปในทิศทางใด และรับประกันได้ว่ามีตลาดรองรับสินค้า

กระบวนการประเมินของ MSC มี 2 ขั้นตอนคือ 1) Pre-assessment >> การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อเตรียมความในการประเมินเต็มรูปแบบ (Full assessment) 2) Full assessment >> ประเมินว่าการประมงนี้ผ่านมาตรฐาน MSC หรือไม่ อย่างไรก็ตามต้นทุนในการประเมินขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง และพื้นที่ทำประมง

หลักการที่ 1 ความยั่งยืนของประชากรสัตว์น้ำเป้าหมาย

การทำประมงต้องไม่เข้าสู่สภาวะ Over fishing ที่ส่งผลต่อการลดลงของสัตว์น้ำที่ใช้ประโยชน์ (exploited stock) โดยต้องมีการทดแทนของสัตว์น้ำ (recruitment stock) หรือมีแนวทางการจัดการฟื้นฟูสัตว์น้ำเป้าหมาย ได้แก่การประเมินผลผลิต (สถานภาพประชากรสัตว์น้ำ การฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำ) กลยุทธ์ในการจับสัตว์น้ำ (การทำประมง, การควบคุมการเครื่องมือประมง, การติดตามตรวจสอบ, การประเมินสถานะกลุ่มสัตว์น้ำ)

กฎการควบคุมการจับอย่างมีประสิทธิภาพ (Harvest Control Rules :HCR) เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากร มีการตอบสนองต่อความไม่เเน่นอนเนื่องจากทรัพยากรมีเพิ่มขึ้นและลดลง ดังนั้นจะมีการจัดการอย่างไร ทั้งนี้ต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่าง stakeholder ได้เเก่ การกำหนดโควต้าการทำประมง การควบคุมการลงเเรงประมง และการออกใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม HCR ต้องสมเหตุสมผลกับทรัพยากร เช่น Yellowfin Tuna ในพื้นที่ WCPFC มีแผนที่จะดำเนินการตามกรอบการพัฒนา HCR เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน MSC

หลักการที่ 2 ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำการประมง (Environmental impact of fishing)

โครงการปรับปรุงการทำประมง (FIP) เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การได้รับมาตรฐาน MSC ซึ่งในด้านการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของทรัพยากร (Ecosystem and environment) ก็เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ เช่น การศึกษาหรือหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การทำการประมงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามสัตว์น้ำแต่ละชนิดก็มีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน เช่น Sea grass, Mangrove, High sea เป็นต้น >> การประเมินมีความซับซ้อนแตกต่างกัน

หลักการประเมินด้านระบบนิเวศ แบ่งได้ 5 ประเด็นดังนี้

  1. Primary species สัตว์น้ำเป้าหมายในการทำการประมง (Target species) โดยคำนึงถึงมวลชีวภาพของสัตว์น้ำว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากมีการลงแรงประมงมากเกินจะส่งผลต่อชนิดสัตว์น้ำอย่างไร และหากมีการจัดการทรัพยากรต้องมีจุดอ้างอิงตามมาตรฐานที่กำหนด
  2. Secondary species สัตว์น้ำพลอยจับได้ (by catch) ที่เกิดจากการทำประมง ที่ได้สัตว์น้ำนอกเป้าหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งนี้รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นนอกเหนือสัตว์น้ำ เช่น นกทะเล เป็นต้น ในการประเมินอาจใช้ดัชนีทางชีวภาพ เช่น อัตราการทดแทน การแพร่กระจาย เพื่อประเมินว่าสัตว์น้ำดังกล่าวเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุหรือไม่
  3. Endangered, Threatened or Protected (ETP) species ชนิดพันธุ์ที่ควรได้รับการพิจารณาภายใต้เงื่อนไข “ใกล้สูญพันธุ์” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระดับชาติ นานาชาติ IUCN Red List of Threatened Species หรือเป็นความตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ในการประเมินว่าสัตว์น้ำจัดอยู่ในสถานะใด ขึ้นอยู่กับการศึกษาสภาวะทรัพยากร ประมง เช่น ผลจับ อัตราการเติบโต การใช้ประโยชน์ การทดแทน การตายโดยการทำประมงรวมถึงข้อมูลทางชีววิทยาของสัตว์น้ำนั้นๆ ซึ่งต้องมีการพิจารณาและให้คะแนนโดยผู้ประเมิน

  1. Habitat ลักษณะแหล่งอาศัยหลักของสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมง ว่าเครื่องมือประมงส่งผลต่อสภาพพื้นที่อย่างไร ร้ายแรงหรือไม่ หรือสามารถฟื้นฟูได้โดยธรรมชาติ เช่น การจัด Zoning ห้ามทำประมงในเขตอนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูแหล่งอาศัยให้กับสัตว์น้ำ หรือการกำหนดเครื่องมือประมงที่สามารถเข้าไปทำประมงในพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น
  2. Ecosystem การประเมินภาพรวมของพื้นที่ว่า มีโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตอย่างไร และหากมีการทำประมงต้องไม่ส่งผลกระทบ หรือไม่ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศนั้นๆ

หลักการที่ 3 การจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ (Effective management) และ Ms. Sheryl Torres Wu บรรยาย พื้นฐานข้อมูล MSC Chain of custody

  1. ลักษณะการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้นอยู่กับ

1.1 ข้อมูลสัตว์น้ำแต่ละชนิด เช่น share stock, highly migration stock, high sea stock เป็นต้น โดยศึกษาข้อมูลผลผลิต (productivity) จากฐานข้อมูล www.fishbase.org , www.sealifebase.org , บทความทางวิทยาศาสตร์

1.2 วิธีทำการประมง อันจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมต่างๆ เช่น การกำหนดระเบียบ ข้อบังคับกฎหมายทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ต่างประเทศ การทำข้อตกลงในการใช้ทรัพยากร ร่วมกัน รวมไปถึงข้อกำหนดอย่างไม่เป็นทางการที่พึงปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง

การออกมาตรการต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีจุดสำคัญคือ การอัพเดทกฎระเบียบที่สอดคล้องตามหลักสากล มีการกำหนดบทบาทชัดเจน มีการตกลงร่วมกัน มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีหลักฐานแสดงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งมีการเผยแพร่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ต้องมีเป้าหมายในการปฏิบัติในระยะยาว

หลังจากการนำมาตรการ หรือกฎระเบียบมาบังคับใช้ในการทำการประมง ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ควรมีการประเมินประสิทธิภาพ การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาคปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่เป้าหมายการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

  1. วิทยากรได้ยกตัวอย่างการจัดทำ Pre-assessment และ Full-assessment ในออสเตรเลียฝั่งตะวันตก ว่า มีการเริ่มต้นโครงการโดยรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนการประเมิน รวมถึงการ audit อีกด้วย พบว่ามีการประเมินใน 4 พื้นที่ 47 การประมง ที่ได้รับการรับรองจำนวน 110 ซึ่งในการประเมินมี 3,350 ตัวชี้วัด รวมงบประมาณ 600,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ใช้เวลา 2 ปี (2013–2015) ในการประเมิน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่แล้วมีผลการประเมินมากกว่า 80% การจัดทำ assessment ต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่ คำนึงถึงความคาดหวังของ stakeholder และการกำหนดเป้าหมายวิธีการ อันจะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
  2. มาตรฐาน MSC Chain of Custody ทำให้ผลิตภัณฑ์จาก MSC ได้รับการรับรองการประมงที่ยั่งยืน และสามารถจำแนกออกจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก MSC บริษัททุกบริษัท ในห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีใบรับรอง Chain of Custody ที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการรับรองธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยงานรับรองอิสระ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้ใบรับรอง ดังนี้

3.1 ผ่านการรับรอง >> บริษัทต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก supplier ที่ได้รับการรับรอง

3.2 ระบุตัวตนได้ >> ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสามารถระบุได้อย่างชัดเจน

3.3 การคัดแยก >> ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะแยกจากที่ไม่ผ่านการรับรอง

3.4 การตรวจสอบและบันทึกได้ >> ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีการบันทึกปริมาณข้อมูล

3.5 การจัดการ >> องค์กรมีระบบการจัดการที่ดี

มาตรฐาน Chain of Custody ได้รับการปรับปรุงในปี 2015 และปัจจุบันมีเวอร์ชันที่เป็นค่าเริ่มต้นด้วยกลุ่ม Consumer-Facing Organization (CFO) อนึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะได้รับการตรวจสอบทุก 3 ปี

ภาพประกอบการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม หลักสูตรพื้นฐานการบริหารจัดการการทำประมงตามหลักการของ
Marine Stewardship Council Fisheries Standard
วันที่ 24 – 26  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ