ส่งออกทูน่าครึ่งหลังทางสะดวก หลังสหรัฐฯ พอใจไทยแจงปัญหาค้ามนุษย์ สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเล-ซูเปอร์สโตร์รายใหญ่มะกันยันนำเข้าไม่สะดุด สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยครึ่งทางผลประกอบการ-กำไรอู้ฟู่ถ้วนหน้า หลังราคาวัตถุดิบ และราคาสินค้าปรับตัวลดลง ออร์เดอร์ทะลัก มั่นใจครึ่งหลังยอดโตกระฉูด 6 ปัจจัยบวกช่วยหนุน
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของภาคเอกชนประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ร่วมคณะทีมไทยแลนด์ของรัฐบาลไทยโดยมีนายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าว ในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากที่คณะได้พบปะกับสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลสหรัฐฯ (NFI) ณ นครลอสแองเจลีส และพบกับผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี. ได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงถึงนโยบายและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในระดับชาติภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่สำคัญ เช่นการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในลักษณะวัน-สต็อป เซอร์วิส รวม 6 ศูนย์ในเขตกรุงเทพฯ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมง 7 แห่ง ครอบคลุม 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อขึ้นทะเบียนและมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นสากล การเสนอร่างกฎหมายแรงงานทางทะเลเพื่อคุ้มครองแรงงานภาคประมงอย่างเป็นระบบตามหลักจริยธรรมสากล เป็นต้น
“ผลจากการชี้แจงครั้งนี้ผู้นำเข้าต้องการให้ทุกอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด และผลตอบรับ ณ วันนี้เรื่อง Tier 3 แทบไม่ได้มีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐฯแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตามจากที่ภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาก็คาดหวังว่าในปีหน้าไทยจะได้รับการเลื่อนสถานะรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯที่ดีขึ้นจากกลุ่ม Tier 3 ขึ้นมาเป็น Tier 2 หรือ Tier 2 Watch List ขณะเดียวกัน เพื่อให้คู่ค้าได้เข้าใจถึงนโยบาย แผนงานและ แนวทางปฏิบัติของไทยได้ดีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ทางทีมไทยแลนด์จะได้จัดสัมมนาภายในงาน SIAL ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ผู้นำเข้าและหน่วยราชการของยุโรปได้เข้าใจนโยบายและแผนงานการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยให้ดีขึ้น
ดร.ชนินทร์ กล่าวถึงภาวการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทย(ทูน่ากระป๋อง ทูน่าลอยด์ อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาทูน่า) ที่ส่งออกออกไปยังกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ว่าในแง่ปริมาณสามารถส่งออกได้ 3.27 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 3.12 แสนตัน แง่มูลค่ารูปเงินบาทส่งออกแล้ว 4.18 หมื่นล้านบาท ขยายตัวลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วส่งออกได้ 4.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าการส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งออกได้ 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ตัวเลขข้างต้นเราพอใจมาก เพราะส่งออกได้เพิ่มขึ้นในแง่ปริมาณ แสดงว่าสินค้าเราแข่งขันได้ดีขึ้น ราคาสมเหตุสมผล และคนซื้อกับเรามากขึ้น แม้ตัวเลขด้านมูลค่าทั้งรูปบาทและดอลลาร์จะติดลบ แต่ผลกำไรของผู้ประกอบการดีขึ้นจากกำไรปกติเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5% แต่ปีนี้ครึ่งแรกกำไรน่าจะมีสัก 7-8% เป็นผลจากราคาวัตถุดิบทูน่าช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.35 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปีที่แล้วเฉลี่ยสูงถึง 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบทูน่าช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงไปกว่า 38% จากครึ่งแรกปี 2556 นำเข้ามูลค่า 2.94 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือ 1.83 หมื่นล้านบาท”
สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ราคาวัตถุดิบคาดจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.8 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และในไตรมาสที่ 4 จะปรับลดลงและมีเสถียรภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-1.6 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของราคาวัตถุดิบที่ครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก และจะมีผลให้ยอดส่งออกในครึ่งปีหลังสูงกว่าในครึ่งปีแรกตามราคาวัตถุดิบ และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน ดังนั้นจึงคาดการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในปี 2557 ในรูปปริมาณจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-10% ส่วนมูลค่าการส่งออกรูปเงินบาทน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรืออาจขยายตัวได้ 3-5%
ทั้งนี้ปัจจัยบวกต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในครึ่งปีหลังได้แก่ ราคาวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในระดับต่ำกว่า 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน,ผู้ประกอบการสมาชิกของสมาคมส่วนใหญ่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าต่อยูนิตได้สูงขึ้น , ค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพ,ปัญหาแรงงานต่างด้าวได้รับการแก้ไข ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากีดกันการค้า,โรคระบาดไวรัสอีโบลา และภาวะสงครามในหลายประเทศส่งผลให้มีความต้องการสินค้าทูน่าเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบคือการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,975 วันที่ 17 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557