Follow Us :
02-258-0317-8

ในปี 2556 ที่ผ่านมาตลาดส่งออกหลักสินค้าไทย ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และได้ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้กระทั่งสินค้ากลุ่มอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นอย่างทูน่ากระป๋องที่บริโภคกันทั่วโลกก็ยังเลี่ยงผลกระทบนี้ไม่พ้นเช่นกัน ในโอกาสนี้ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์”ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์” นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา ตลอดจนแนวโน้มปี 2557 ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมทูน่าไทยที่ส่งออกไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

และมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี

ส่งออกปี 56 วืดเป้า

การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า (ทูน่ากระป๋อง ปลาทูน่าลอยด์หรือปลาทูน่านึ่งสุกแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาทูน่า) ในปี 2556 ด้านปริมาณส่งออกรวม 6.15 แสนตัน เทียบกับปี 2555 ที่ส่งออก 6.30 แสนตัน ลดลง 2% ส่วนด้านมูลค่ารูปเงินบาท ส่งออก 8.64 หมื่นล้านบาท จากปี 2555 ส่งออก 8.94 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3% และในรูปดอลลาร์สหรัฐฯส่งออกมูลค่า 2.861 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2555 ส่งออก 2.896 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1%

“ปีที่แล้วถือว่าการส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมายขยายตัวที่ 5-10% ทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่า จากปัญหาหลักคือกำลังซื้อบางประเทศเช่นสหรัฐฯลดลง ตลาดอียิปต์ ลิเบีย มีปัญหาการเมืองภายใน ประกอบกับราคาปลาทูน่าที่ใช้เป็นวัตถุดิบก็ค่อนข้างสูง และมีความผันผวนมากจากปลายปี 2555 เฉลี่ยที่ 1.4-1.5 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ครึ่งแรกของปี 2556 วิ่งขึ้นมาเกือบ 2.4 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สวิงเป็นพันดอลลาร์สหรัฐฯ เราทำงานลำบาก และครึ่งหลังปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ต้นทุนสูง ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ไม่ทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย ถือเป็นปีแรกที่การส่งออกทูน่าเสมอตัว จากปี 2552-2555 เราโตเฉลี่ย 10-20% ทุกปี”

ปี 57 ปริมาณพุ่งแต่มูลค่าไม่โต

สำหรับแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในปี 2557 มองว่าในครึ่งแรกของปีนี้ยอดส่งออกในแง่ปริมาณจะขยายตัวได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(อียู) เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ก็ฟื้นทุกตลาด ประกอบกับราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในเวลานี้ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งราคาปลาระดับนี้ทำให้ราคาสินค้าลดลง ตลาดยอมรับ และ ผู้บริโภครับราคาได้ดีขึ้น ขณะที่ซูปเปอร์มาเก็ตก็สามารถทำยอดขายได้ดี ส่วนการส่งออกด้านมูลค่า มองว่าครึ่งแรกของปีนี้ จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วประมาณ 10% เนื่องจากราคาวัตถุดิบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงกว่า 40% มีผลให้ราคาสินค้าถูกลง ขณะที่ภาพรวมทั้งปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในแง่ปริมาณจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนการส่งออกรูปดอลลาร์อาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5-10% แต่ในรูปเงินบาทอาจจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพราะเวลานี้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 29 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากราคาสินค้าที่ลดลงทำให้รายได้รูปเงินบาทจะขยายตัวไม่มาก

“ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในครึ่งแรกของปีนี้ได้ลดลงเหลือ 1.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งก็ลดลงเยอะ จากจับปลาได้ดีขึ้น และคู่แข่งคือจีน มีปัญหาในการส่งออกปลาทูน่าจากตลาดเขาถูกไทยแย่ง ทำให้ปลาเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น ราคาวัตถุดิบจึงลดลง ซึ่งทางสมาคมคาดการณ์ว่าราคาปลาทูน่าในครึ่งแรกของปีนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 1.2-1.5 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หากคงระดับนี้ทั้งปีจะทำให้อุตสาหกรรมรักษาระดับการเติบโตได้ และมีกำไร ทั้งนี้ราคาปลาทูน่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จบไปแล้ว ไม่ผันผวนแล้ว เพราะทุกโรงงานมีการซื้อขายสินค้าข้ามไปถึงเดือนพฤษภาคมแล้ว และได้สั่งซื้อวัตถุดิบเรียบร้อยโดยฟิกซ์ราคาไว้จนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนครึ่งปีหลังราคาปลาอาจขึ้นมาได้ต้องติดตามต่อไป”

ทิปส์-รีพอร์ตปัจจัยเสี่ยงสุด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอุตสาหกรรมทูน่า ที่ห่วงมากที่สุดในเวลานี้คือกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Tier 2 watch list) มาเป็นเวลา 4 ติดต่อกัน(2553-2556) โดยกล่าวหาว่าไทยมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ ใน 4 สินค้าคือประมง สิ่งทอ อ้อย และสื่อลามก ซึ่งในเร็วๆนี้ทางสหรัฐฯจะออกรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPs Report ประจำปี 2557 ซึ่งคาดจะมีการประกาศในเดือนมิถุนายน-กันยายน เบื้องต้นทางสมาคมก็มีความมั่นใจระดับหนึ่งว่าปีนี้น่าจะมีผลในทางบวก ทั้งนี้ที่ผ่านมาทุกโรงงานสมาชิกของสมาคม(ล่าสุดมี 18 รายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 98% ของมูลค่าการส่งออกในภาพรวม)ได้ปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล และให้สวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทย และยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย (มี 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง) ในการสร้างเครือข่ายด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงให้ใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้ร่วมมือกับ 5 กระทรวง(ต่างประเทศ, พาณิชย์, แรงงาน, เกษตรและสหกรณ์, พัฒนาสังคมฯ)ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี. และได้มีการจ้างล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ เพื่อตอบปัญหาให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ

“เรื่องแรงงานเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของอุตสาหกรรมทูน่า ในเวลานี้ เพราะ 6 เดือนแรกตลาด และราคาวัตถุดิบนิ่งแล้ว เพราะถ้าหากรายงานประจำปีของสหรัฐฯออกมาแย่กว่าเดิม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯแล้วยังจะกระทบต่อเนื่องถึงตลาดอียู รวมถึงออสเตรเลียเพราะเขามีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเรื่องจีเอสพีที่สินค้าทูน่าเราถูกอียูตัดสิทธิในปีนี้ แทบไม่มีผลกับทูน่าเลย ที่ผ่านมาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้สิทธิเพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยยอมเสียภาษีนำเข้า 24% จากที่ได้จีเอสพีเสียภาษีที่ 20.5% ต่างกันแค่ 3.5% ส่วนจีเอสพีสหรัฐฯที่ยังไม่ได้รับการต่ออายุก็มีผลกระทบไม่มาก เพราะอุตสาหกรรมประมงใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯไม่มาก”

รุกใช้อาเซียนฐานวัตถุดิบ

จากตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลียที่มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาแรงงาน ทางสมาคมจะหันมารุกตลาดอาเซียนที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้นหรือไม่นั้น ในข้อเท็จจริงทางสมาคมให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาอาเซียนให้เป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนโรงงาน หลักๆ มีอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่มีกองเรือทูน่า ที่ผ่านมาทางสมาคมได้รับการสนับสนุนจากกรมประมงในการนำคณะไปเจรจาในเรื่องนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ไปเจรจากับทางการเมียนมาร์ และในเร็วๆ นี้จะนำคณะไปเจรจากับทางอินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยข้อดีส่วนหนึ่งของการใช้ปลาที่จับในอาเซียนสามารถใช้เป็นแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับอาเซียนได้ อาทิ เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,933 วันที่ 23 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2557