Follow Us :
02-258-0317-8

ในปี 2556 ที่ผ่านมาตลาดส่งออกหลักสินค้าไทย ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และได้ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้กระทั่งสินค้ากลุ่มอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นอย่างทูน่ากระป๋องที่บริโภคกันทั่วโลกก็ยังเลี่ยงผลกระทบนี้ไม่พ้นเช่นกัน ในโอกาสนี้ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา ตลอดจนแนวโน้มปี 2557 ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมทูน่าไทยที่ส่งออกไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี

ส่งออกปี 56 วืดเป้า

การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า (ทูน่ากระป๋อง ปลาทูน่าลอยด์หรือปลาทูน่านึ่งสุกแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาทูน่า) ในปี 2556 ด้านปริมาณส่งออกรวม 6.15 แสนตัน เทียบกับปี 2555 ที่ส่งออก 6.30 แสนตัน ลดลง 2% ส่วนด้านมูลค่ารูปเงินบาท ส่งออก 8.64 หมื่นล้านบาท จากปี 2555 ส่งออก 8.94 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3% และในรูปดอลลาร์สหรัฐฯส่งออกมูลค่า 2.861 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2555 ส่งออก 2.896 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1%

“ปีที่แล้วถือว่าการส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมายขยายตัวที่ 5-10% ทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่า จากปัญหาหลักคือกำลังซื้อบางประเทศเช่นสหรัฐฯลดลง ตลาดอียิปต์ ลิเบีย มีปัญหาการเมืองภายใน ประกอบกับราคาปลาทูน่าที่ใช้เป็นวัตถุดิบก็ค่อนข้างสูง และมีความผันผวนมากจากปลายปี 2555 เฉลี่ยที่ 1.4-1.5 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ครึ่งแรกของปี 2556 วิ่งขึ้นมาเกือบ 2.4 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สวิงเป็นพันดอลลาร์สหรัฐฯ เราทำงานลำบาก และครึ่งหลังปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ต้นทุนสูง ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ไม่ทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย ถือเป็นปีแรกที่การส่งออกทูน่าเสมอตัว จากปี 2552-2555 เราโตเฉลี่ย 10-20% ทุกปี”

ปี 57 ปริมาณพุ่งแต่มูลค่าไม่โต

สำหรับแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในปี 2557 มองว่าในครึ่งแรกของปีนี้ยอดส่งออกในแง่ปริมาณจะขยายตัวได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(อียู) เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ก็ฟื้นทุกตลาด ประกอบกับราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในเวลานี้ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งราคาปลาระดับนี้ทำให้ราคาสินค้าลดลง ตลาดยอมรับ และ ผู้บริโภครับราคาได้ดีขึ้น ขณะที่ซูปเปอร์มาเก็ตก็สามารถทำยอดขายได้ดี ส่วนการส่งออกด้านมูลค่า มองว่าครึ่งแรกของปีนี้ จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วประมาณ 10% เนื่องจากราคาวัตถุดิบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงกว่า 40% มีผลให้ราคาสินค้าถูกลง ขณะที่ภาพรวมทั้งปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าในแง่ปริมาณจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนการส่งออกรูปดอลลาร์อาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5-10% แต่ในรูปเงินบาทอาจจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพราะเวลานี้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 29 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากราคาสินค้าที่ลดลงทำให้รายได้รูปเงินบาทจะขยายตัวไม่มาก

“ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในครึ่งแรกของปีนี้ได้ลดลงเหลือ 1.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งก็ลดลงเยอะ จากจับปลาได้ดีขึ้น และคู่แข่งคือจีน มีปัญหาในการส่งออกปลาทูน่าจากตลาดเขาถูกไทยแย่ง ทำให้ปลาเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น ราคาวัตถุดิบจึงลดลง ซึ่งทางสมาคมคาดการณ์ว่าราคาปลาทูน่าในครึ่งแรกของปีนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 1.2-1.5 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หากคงระดับนี้ทั้งปีจะทำให้อุตสาหกรรมรักษาระดับการเติบโตได้ และมีกำไร ทั้งนี้ราคาปลาทูน่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จบไปแล้ว ไม่ผันผวนแล้ว เพราะทุกโรงงานมีการซื้อขายสินค้าข้ามไปถึงเดือนพฤษภาคมแล้ว และได้สั่งซื้อวัตถุดิบเรียบร้อยโดยฟิกซ์ราคาไว้จนถึงเดือนมิถุนายน ส่วนครึ่งปีหลังราคาปลาอาจขึ้นมาได้ต้องติดตามต่อไป”

ในกลุ่มสินค้าอาหารนอกจากสินค้ากุ้งที่ไทยครองแชมป์ผู้ผลิตและส่งออกเบอร์ 1 ของโลกแล้ว สินค้าทูน่าถือเป็นสินค้าที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน จากจุดเล็กๆ

เมื่อ 28 ปีก่อนที่ได้รวมตัวกันของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่าภายใต้สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปมียอดส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าเพียงหลักร้อยล้านบาท
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ แต่ ณ ปัจจุบันยอดส่งออกได้เติบโตพุ่งทะยานเกือบแสนล้านบาท ขณะที่ปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรม มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เข้าถึงเป้าหมายและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุด 16 บริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ารายใหญ่ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย” และได้เลือก “ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์” ผู้คร่ำหวอดในวงการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเป็นคนแรก และได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นฉบับแรกดังนี้

ขับเคลื่อนนโยบาย 4 ด้าน

สมาคมได้ดำเนินการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และได้รับใบอนุญาตสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 จุดประสงค์การจัดตั้งสมาคมเพื่อผลักดันนโยบาย 4 ด้านได้แก่ แรงงาน, การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน, ความปลอดภัยอาหาร และการเจรจาเขตการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการยอมรับและแก้ไขปัญหาในเวทีเจรจาการค้า ทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมทูน่าของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วโลก

“ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าเราส่งออกมากกว่า 200 ประเทศ เติบโตแต่ละปีเฉลี่ย 5-10% มาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดี จะแย่อย่างไรเราก็เติบโตได้ เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต้องรับประทาน ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งรับประทาน ตัวเลขส่งออกปีนี้ก็น่าจะถึง 1 แสนล้านบาท (ปี 2555 ส่งออก 9.16 หมื่นล้านบาท) เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่ เราก็ต้องยืนด้วยขาของตัวเอง สินค้าหลักๆ ที่เราจะมาช่วยดูแลในสมาคมนี้ก็มีปลาทูน่ากระป๋อง ปลาทูน่าลอยด์(ปลาทูน่านึ่งสุกแช่แข็ง) และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่า”

6 พันธกิจรออยู่ข้างหน้า

ส่วนด้านพันธกิจของสมาคมจะมี 6 ด้าน

  1. ด้านจริยธรรมในการปฏิบัติต่อแรงงาน ในตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่เรือจับปลา ท่าเรือ จนถึงโรงงานแปรรูปส่งออก ทุกบริษัทประกาศชัดเจนในการต่อต้านและจะไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ 7 สมาคมด้านประมงจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
  2. ด้านความปลอดภัยอาหารจะส่งเสริมการตรวจสอบคุณภาพทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ
  3. ด้านการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และนโยบายการทำประมงอย่างยั่งยืน
  4. สนับสนุนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ในทุกกรอบ เพื่อลดการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษี และมิใช่ภาษี(เอ็นทีบี)ซึ่งในเรื่องเอฟทีเอนี้ทางสมาคมมีจุดยืนเสนอรัฐบาลไทยในการเจรจาเอฟทีเอกับทุกประเทศทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วเช่น เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ว่าจะต้องไม่มีกำหนดเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นจุดยืนเดียวกันทั่วโลก เนื่องจากวัตถุดิบปลาทูน่าสัดส่วนกว่า 90% เป็นวัตถุดิบนำเข้าไม่ได้มาจากเรือประมงของไทยเอง ดังนั้นหากมีการกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าโดยกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ ไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากความตกลง และจะกลายเป็นอุปสรรค
  5. พัฒนาแหล่งวัตถุดิบทูน่าในด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งภายในและต่างประเทศให้เข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งปกติไทยจะซื้อวัตถุดิบจากแหล่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะมาร์แชลล์ แหล่งในมหาสมุทรอินเดียซื้อจากฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น ซึ่งจากนี้ไปจะเข้าไปลงทุนเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบในเมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อส่งกลับมาไทยให้มากขึ้น เพราะวัตถุดิบถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตส่งออก
  6. การเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวัตถุดิบและตลาด

“ขณะนี้สหภาพยุโรปเก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากไทยในอัตรา 24%เป็นภาษีที่สูงน่าจะเกือบที่สุดในโลก ในขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น ACP คันทรี ในแอฟริกา แคริเบียน แปซิฟิก ส่วนใหญ่เขาเสีย 0% ทำให้เราเสียเปรียบ ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่เราผลักดันให้รัฐบาลเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปให้เขาลดภาษีลงมา และต้องไม่มีการกำหนดเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า”

ส่งออกโตต่อเนื่อง

ส่วนภาวะการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า ในปี 2555นั้น ไทยมีการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง ปลาทูน่าลอยด์ และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่าด้านปริมาณรวม 6.30 แสนตัน ลดลงจาก 2% จากปี 2554 ส่งออก 6.45 แสนตัน ขณะที่การส่งออกด้านมูลค่าปี 2555 รวม 9.16 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 19% จากปี 2554 มีการส่งออก 7.51 หมื่นล้านบาท ส่วนช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าด้านปริมาณรวม 4.04 แสนตัน ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่งออก 4.13 แสนตัน ส่วนด้านมูลค่าส่งออก 5.69 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วส่งออก 5.81 หมื่นล้านบาท

“ถ้าเทียบกับเซ็กเตอร์อื่นการส่งออกทูน่าถือว่าใช้ได้ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะดี หรือแย่ ปกติเราสามารถโตได้ 5-10% ทุกปีไม่หวือหวา ขอให้มีวัตถุดิบ และภาษีของประเทศผู้นำเข้าแข่งขันเป็นธรรมเก็บเท่ากันทุกประเทศเราแข่งขันได้ และมั่นใจปีนี้ยังทำได้ตามเป้า ปัจจุบันเราส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สามารถรักษาบาลานซ์ของตลาดได้ดี โดยสัดส่วนประมาณ 50% ขณะนี้เราส่งออกไปประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอีก 50%ไปตลาดอื่นๆ รวมถึงตลาดเกิดใหม่(อีเมอร์จิ้ง คันทรี) เช่นประเทศในตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา ซึ่งใน 2 ตลาดหลังนี้ตลาดกำลังขยายตัวมากจาก 2 ตัวแปรหลักคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจกำลังขยายตัว คาดว่าภายใน 5-10 ปีจากนี้ตลาดอีเมอร์จิ้ง คันทรีจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 60%”

อย่างไรก็ดีในภาพรวมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทูน่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีกำไรสู้ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วไม่ได้ เนื่องจากช่วงต้นปีนี้ราคาวัตถุดิบทูน่ามีความผันผวนราคาพุ่งไปถึง 2.3 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปลายปีที่แล้วเฉลี่ย 1.9 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และขณะนี้เฉลี่ยที่ 1.8 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ช่วงต้นปีนี้เงินบาทแข็งค่ามากกระทบต่อการรับคำสั่งซื้อ แต่ขณะนี้ทั้งค่าเงินบาท และราคาวัตถุดิบนิ่งขึ้นถือเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการส่งออกไตรมาสสุดท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,891 วันที่ 27-30 ตุลาคม พ.ศ. 2556